ข้อมูลมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการจังหวัดกาฬสินธุ์

Posted by Tawisa on

 717 ยอดผู้เข้าชมเว็บไซต์,  2 ยอดผู้เข้าชมวันนี้

ประวัติมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ (Universal Foundation for Persons with Disabilities)

การก่อตั้ง
       ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ได้รับอุบัติเหตุจากการเล่นระเบิดโดยไม่รู้ตัวในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 ซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ 15 ปี ทำให้ตาบอด มองไม่เห็น นิ้วมือซ้ายขาด 2 นิ้ว และเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยความหวังว่าจะมองเห็น จนถึงวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2511 หลังจากได้รับการผ่าตัดตาและมือหลายครั้ง จึงทราบความจริงว่าต้องตาบอดไปตลอดชีวิต จึงเสียใจมากเพราะเคยใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็นนายแพทย์ แต่ความฝันนั้นมลายหายไปพร้อมกับตวงตา

       ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ได้ทำงานเพื่อสิทธิของคนพิการมาตั้งแต่กำลังศึกษาอยู่ในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ระหว่างปี พ.ศ. 2515-2518) โดยได้ทำงานร่วมกับสมาคมคนตาบอดกรุงเทพ ตั้งแต่ในเรื่องการก่อตั้งห้องสมุดสำหรับคนตาบอด การเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายที่จำกัดสิทธิของคนพิการ เมื่อจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, เคมบริดจ์ แมสซาชูเซท ประเทศสหรัฐอเมริกาในปีพ.ศ. 2526 ได้ร่วมกับผู้นำคนพิการในการจัดตั้งสภาคนพิการทุกประเภท แห่งประเทศไทยขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2526 และได้อุทิศตัวทำงานกับสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยมาโดยตลอด (จนถึงทุกวันนี้) โดยดำรงตำแหน่งประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ถึง 4 สมัย

      ในระหว่างปี พ.ศ. 2538-2541 ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ ธุรกิจประสบปัญหาล้มละลายและมีคนว่างงานเป็นจำนวนมาก ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ จึงได้เขียนหนังสือ ”สู้ชีวิต เคราะห์สร้างโอกาส” ซึ่งเป็นการรวบรวมหลักธรรมคำสอนของมิสเจเนวีฟ คอลฟิลด์(ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ) และ ซิสเตอร์โรสมัวร์(แม่อธิการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ) หลักธรรมคำสอนของทั้ง 2 ท่าน ได้ช่วยให้มีกำลังใจต่อสู้ชีวิตจนประสบผลสำเร็จ ได้เป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยหวังว่าหนังสือ “สู้ชีวิต เคราะห์สร้างโอกาส” จะให้กำลังใจ แก่ผู้อ่านในการที่จะต่อสู้ชีวิตทำให้ตนเองมีความสุขได้ แม้จะต้องพบกับมรสุมชีวิตอย่างหนักก็ตาม ที่เรียกว่ารู้จักนำเคราะห์มาสร้างโอกาส ในขณะเดียวกันทำให้นึกถึงคนพิการอีกจำนวนมากที่ยังประสบความทุกข์ยากลำบากไม่มีโอกาส จึงตัดสินใจที่จะนำรายได้จากการขายหนังสือ และเชิญชวนผู้อ่านหนังสือบริจาคเงินร่วมกับผมจัดตั้งมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คนพิการ ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ และครอบครัวสามารถรวบรวมเงินและจัดตั้งเป็นมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการได้สำเร็จเรียบร้อยในวันที่ 2 ก.พ. 2542 เลขใบอนุญาตที่ ต. 50/2542 โดยใช้บ้านของผมเองเป็นที่ตั้งของมูลนิธิ บ้านเลขที่ 5/2 ซอยอรุณอมรินทร์ 37 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700

 

สัญลักษณ์และความหมาย


         สัญลักษณ์ของมูลนิธิที่ใช้สัญลักษณ์เป็นเปลวไฟและแผนที่ประเทศไทย เพื่อให้มีความหมายให้ความหมายของสัญลักษณ์ว่า ความร้อนคือพลัง แสงสว่างคือปัญญา แผนที่ประเทศไทย คือ คนพิการและผู้ด้อยโอกาสทุกคนในประเทศไทย ความหมายรวม คือ พลังและปัญญา สำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาสทุกคนในประเทศไทย มีความเชื่อว่าในการที่จะพัฒนาคนพิการให้พึ่ง ตนเองได้นั้น ต้องอาศัยกำลังใจหรือจิตใจที่เอาจริงเอาจัง ไม่ท้อแท้ท้อถอยอีกทั้งต้องใช้ ปัญญาอย่างมาก จึงจะประสบผลสำเร็จ อีกทั้งสอดรับกับความเชื่อของศาสนาคริสต์ ที่ใช้สัญญาลักษณ์เปลวไฟหรือลิ้นไฟ หมายถึง พระจิตเจ้าผู้ประทานพลังจิตและปัญญาให้แก่มนุษย์ และศาสนาพุทธเองก็ให้ความสำคัญเรื่องของพลังจิต และปัญญาเช่นกัน และได้แต่หวังว่าพระจิตเจ้าจะประทานพลังและ ปัญญาให้แก่คนพิการและผู้ด้อยโอกาสทุกประเภทในประเทศไทย เพื่อบุคคลเหล่านั้นจะได้พัฒนาตนเองจนพึ่งตนเองได้และร่วมสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมแฉกเช่นบุคคลทั่วไป

 

วัตถุประสงค์ขององค์กร

        ประการแรก ตั้งใจที่จะเน้นเรื่องการสร้างเจตคติต่อคนพิการในทางสร้างสรรค์ เพราะความเชื่อว่าคนพิการไม่มีความสามารถ หรือมีความสามารถจำกัด การใช้คนพิการทำงานหนักเป็นการสร้างเวรกรรมเป็นความ เชื่อที่ทำให้คนพิการเป็นภาระของสังคมไปตลอด ไม่อาจจะได้รับการพัฒนาไปเป็นคนพิการที่พึ่งตนเอง และเป็นพลังให้กับสังคมได้ การจะเปลี่ยนคนพิการจากภาระไปเป็นพลังของสังคมได้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปลี่ยนความเชื่อ ของคนไทยให้มีเจตคติต่อคนพิการในทางที่สร้างสรรค์ ต้องส่งเสริมให้คนไทยเชื่อว่า คนพิการมีศักยภาพมีศักดิ์ศรีแห่งความ เป็นมนุษย์เหมือนกับ บุคคลทั่วไป ด้วยเหตุนี้วัตถุประสงค์แรกของมูลนิธิจึงได้กำหนดว่า “ส่งเสริมให้บุคคลทั่วไปมีเจตคติต่อ คนพิการและผู้ด้อยโอกาสอย่างสร้างสรรค์โดย ใช้สื่อทุกชนิด เช่น สิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีอื่นใด”
       ประการที่สอง ให้ความสำคัญในการพัฒนาคนพิการตั้งแต่แรกเกิดไปจนให้คนพิการมีงานทำเพราะการพัฒนาคนพิการได้เร็วมากเท่าใดก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนพิการมากเท่านั้น ทั้งๆที่การพัฒนาคนพิการตั้งแต่แรกเกิดมีความ สำคัญมากแต่สังคมไทย ก็ไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ นอกจากนี้ในการช่วยเหลือพัฒนาคนพิการต้องทำอย่างครบวงจร ตามเส้นทางชีวิตของคนพิการ กล่าวคือให้ได้รับการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียน เมื่อเข้าโรงเรียนแล้วมีสื่อสิ่ง อำนวยความสะดวกที่เหมาะสมสำหรับ คนพิการแต่ละประเภทแต่ละบุคคล เมื่อศึกษาจบแล้วได้รับการจัดหางานให้ทำ เหมือนอย่างที่ผมได้รับ ส่วนคนพิการระดับรุนแรงและครอบครัวยากจน ต้องได้รับการช่วยเหลือดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่แย่กว่าสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ที่คนชั้นกลางเลี้ยงดูอยู่ ด้วยเหตุนี้วัตถุประสงค์ของมูลนิธิข้อที่สองจึงได้กำหนดว่า  “จัดให้มีบริการป้องกันความพิการ การให้บริการการฟื้นฟูสมรรถภาพ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส เช่น ตั้งสถานสงเคราะห์ 
โรงเรียน ศูนย์ฝึกอาชีพ โรงพิมพ์ และดำเนินกิจกรรมที่ช่วยให้คนพิการและผู้ด้อยโอกาสมีสิทธิ และโอกาสเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป”
       ประการที่สาม ให้ความสำคัญในการประสานทรัพยากรมาใช้ในการพัฒนาคนพิการ ทั้งทรัพยากรจากรัฐบาลกลางและส่วนท้องถิ่น ทรัพยากรจากภาคเอกชน องค์กรของคนพิการ สื่อมวลชนและสถาบันอื่นๆ ของสังคม ทั้งใน และต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้วัตถุประสงค์ของมูลนิธิข้อที่สามจึงได้กำหนดว่า “ให้บริการประสานงานให้คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ได้รับความช่วยเหลือ จากหน่วยงานของรัฐและเอกชน โดยใช้สื่อ สิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเครื่องมือสำคัญในการประสานงาน” 
       ประการสุดท้าย ผมต้องการเห็นคนพิการเป็นคนดีมีศีลธรรม มีจิตอาสาที่จะทำงานเพื่อผู้อื่นดังแบบอย่างที่ มิส เจเนวีฟ คอลฟิลด และ ซิสเตอร์ โรสมัวร์ สังคมใดมีแต่คนดี มีศีลธรรม มีจิตอาสาทำงานเพื่อผู้อื่น สังคมนั้นก็มีแต่ความสงบสันติ ด้วยเหตุนี้วัตถุประสงค์ ของมูลนิธิข้อสุดท้ายจึงได้กำหนดว่า “ส่งเสริม หรือจัดให้มีการฝึกอบรมให้แก่คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ให้มีความเชื่อมั่นในตนเองมีมนุษยสัมพันธ์ มีจิตใจที่เสียสละเพื่อส่วนรวม ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ มีวินัยและเคารพกฎหมาย”

 

ประวัติมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการจังหวัดกาฬสินธุ์

        มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการจังหวัดกาฬสินธุ์ ก่อตั้งเมื่อคราวประชุมคณะกรรมการบริการมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการวิสามัญ ครั้งที่ 7/22546 โดยมีรองศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงษ์พันธ์ เป็นประธานที่ประชุม แจ้งจัดตั้งมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ด้านการศึกษาคนพิการ และการสร้างเจตคติที่สร้างสรรค์ต่อคนพิการ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการจังหวัดกาฬสินธุ์

      ปัจจุบันมีนายวิไลย์  ส่งสุข  ดำรงตำแหน่งเป็นประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการจังหวัดกาฬสินธุ์

ที่ตั้งมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการจังหวัดกาฬสินธุ์ :

อยู่ที่ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ เลขที่ 400 หมู่ 1 ถนนถีนานนท์ ตำบลยางตลาด

อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ 46120

ยังไม่มีคอมเม้นนะครับ : Kopkap.in.th

The comments are closed.